บทบาททางสังคม ของ เนตร เขมะโยธิน

เป็นกำลังสำคัญของกองทัพบูรพา

เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินในปี พ.ศ. 2475 ไม่ปรากฏชื่อเข้าร่วม แต่ในปี พ.ศ. 2476 ขณะที่มียศเป็นนายร้อยโท ได้เกิดเหตุการณ์กบฏบวรเดชขึ้น นายร้อยโทเนตร เป็นทหารของฝ่ายรัฐบาลอยู่ในกองบังคับการกองผสมที่มีนายพันโทหลวงพิบูลสงครามเป็นผู้บังคับการ สามารถปราบกบฏได้สำเร็จ ในปีถัดมา นายร้อยโทเนตรได้เลื่อนยศเป็นนายร้อยเอก และได้เข้าศึกษาในโรงเรียนเสนาธิการทหารบก และได้เดินทางไปศึกษาต่อที่โรงเรียนเสนาธิการทหาร ประเทศฝรั่งเศส โดยได้ศึกษาเป็นระยะเวลา 5 ปี ภายหลังกลับมาเมืองไทยไม่นาน นายพันเอกหลวงพิบูลสงครามซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น ไทยกับฝรั่งเศสมีปัญหาความขัดแย้ง จนนำไปสู่การสู้รบระหว่างไทยกับฝรั่งเศสที่เรียกกันว่าสงครามอินโดจีน ในตอนต้นปี พ.ศ. 2484 เนตร เขมะโยธิน มียศเป็นนายพันตรี ตำแหน่งรองเสนาธิการกองทัพบูรพา ที่มีนายพันเอก หลวงพรหมโยธี เป็นผู้บัญชาการ

สนับสนุนแนวทางประชาธิปไตย

พลตรี เนตร เป็นนายทหารมีทัศนคติโน้มเอียงไปในแนวทางประชาธิปไตยของฝ่ายนายปรีดี พนมยงค์[6] โดยภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. 2489 ซึ่งมี นายปรีดี พนมยงค์ เป็นนายกรัฐมนตรี รัฐธรรมนูญฉบับนี้ห้ามข้าราชการประจำทั้งทหารและพลเรือนดำรงตำแหน่งทางการเมืองในเวลาเดียวกัน ซึ่ง พลตรี เนตร สนับสนุนแนวคิดนี้ พลตรี เนตร ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารรัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ในวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 โดย พลโท ผิน ชุณหะวัณ พันเอก เผ่า ศรียานนท์ และ พันเอก สฤษดิ์ ธนะรัชต์ รวมทั้ง ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารรัฐบาลพลเรือนของนายควง อภัยวงศ์ ซึ่งเป็นรัฐบาลหลังที่มาจากการเลือกตั้ง ครับ

ก่อการกบฎยึดอำนาจจากรัฐบาลทหาร

เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2491 พลตรี เนตร ได้เป็นหัวหน้าคณะนายทหารกบฏเสนาธิการ วางแผนเข้ายึดอำนาจการปกครองจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม เพื่อปรับปรุงกองทัพจากความเสื่อมโทรมและไม่ให้ทหารแทรกแซงการเมืองอีกต่อไป โดยมีแผนจู่โจมเข้าจับตัว จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ขณะที่ไปร่วมงานฉลองมงคลสมรส ของ พลตรี สฤษดิ์ ธนะรัชต์ กับ นางสาววิจิตรา ชลทรัพย์ แต่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ทราบแผนการล่วงหน้าและทำการจับกุมผู้คิดก่อการได้ เมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2491 [7] หลังการก่อกบฏดังกล่าว พลตรี เนตร ถูกจับเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2491 และถูกศาลสั่งจำคุก 3 ปี[8]

ต่อมาในปี พ.ศ. 2495 พลตรี เนตร ได้เข้าร่วมก่อการกับกบฏสันติภาพ [9] แต่ถูกจับกุมและศาลพิพากษาจำคุก ต่อมาจึงได้รับพระราชทานอภัยโทษ ในปี พ.ศ. 2500 [10]

ลงเลือกตั้งและเข้าร่วมรัฐบาล

ภายหลังเมื่อได้รับพระราชทานอภัยโทษ พลตรี เนตร ได้เข้ามาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์สารเสรี ของ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เพื่อนร่วมรุ่น และต่อมาได้ลงสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป ธันวาคม พ.ศ. 2500 โดยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา สังกัดพรรคสหภูมิ ของสุกิจ นิมมานเหมินท์ ต่อมาเมื่อจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ทำการยึดอำนาจจาก จอมพล ป. พิบูลสงคราม และ มอบให้พลโท ถนอม กิตติขจร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี พลตรี เนตร จึงได้เข้าร่วมรัฐบาล โดยดำรงตำแหน่งสำคัญ ดังนี้

  • วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2501 ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีสั่งราชการกระทรวงคมนาคม [11]
  • วันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2501 ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม [12]
  • วันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2501 ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐการ

ต่อมา เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้ทำการปฏิวัติยึดอำนาจการปกครองขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีเอง พลตรี เนตร จึงได้กลับมาทำงานใกล้ชิดอีกครั้ง โดยได้รับแต่งตั้งเป็นเลขาธิการทำเนียบนายกรัฐมนตรี (จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์) ในปี พ.ศ. 2502 [13] อยู่ในตำแหน่งจนจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ถึงแก่อสัญกรรมในปี พ.ศ. 2506 และเมื่อ จอมพล ถนอม กิตติขจร ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี ได้ย้ายมาเป็นปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี จนถึงเดือนกันยายน ปี พ.ศ. 2512 หลังจากนั้น พลตรี เนตร ก็ไม่ได้กลับเข้าไปในการเมืองอีก

แหล่งที่มา

WikiPedia: เนตร เขมะโยธิน http://koratdaily.com/blog.php?id=6834 http://www.youtube.com/watch?v=QSr6m7yN7v8&feature... http://library.cmu.ac.th/pinmala/doctor_detail.php... http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=%E0%B9%80%E0... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2500/A/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2501/A/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2501/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2502/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2503/D/... https://libapps.kku.ac.th/heritage/category.php?id...